E-Library >
วันนี้ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ‘แม่น้ำโขง’ หรือ ‘แม่น้ำของ’ ตามที่ชาวเชียงของเรียกขาน ยังคงไหลเช่นเดิมเหมือนคราวบรรพบุรุษ หากเรามองผ่านแต่เพียงผิวน้ำ เพราะลึกลงไปแล้ว แม่น้ำของต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่มาดี… และที่มาร้าย
ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน แม่น้ำของกำลังกลายเป็นแม่น้ำเขื่อน โดยเฉพาะตอนบนของแม่น้ำที่อยู่ในเขตประเทศจีน มีการสร้างเขื่อนถึง 11 แห่งจาก 28 แห่งตามแผน ยังไม่รวมประเทศต้นน้ำอื่นๆ ที่มีโครงการกักเก็บและปล่อยน้ำตามความต้องการของมนุษย์ ทำให้สายน้ำโขงตอนล่างผิดเพี้ยนจนไม่เป็นธรรมชาติ วิถีชีวิต ผู้คน สัตว์ และสิ่งมีชีวิตหลายล้านชีวิตที่อิงกับลุ่มน้ำโขงตอนล่างถูกบังคับให้รับผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กำแพงเขื่อนขนาดยักษ์เข้ามาขวางลำน้ำจนปลาว่ายไปวางไข่ไม่ได้ สายน้ำที่ขึ้นลงตามใจมนุษย์บางกลุ่มทำให้ระบบนิเวศเดิมพังทลาย ซ้ำร้าย พ.ศ. 2559 มีการฟื้นโครงการร่วมมือระหว่างประเทศที่จะระเบิดแก่งหินในแม่น้ำของอีกครั้ง สืบเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เพื่อเปิดทางให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่สำหรับขนส่งสินค้าแล่นผ่านสะดวก โดยเป้าหมายคือบริเวณแก่งไก่ อำเภอเชียงของ สุดท้ายโครงการต้องพับไปใน พ.ศ. 2563 ไม่ใช่เพราะความโชคดี แต่เกิดจากความพยายามเปล่งเสียงคัดค้านของผู้คนตัวเล็กๆ ที่มองเห็นผลกระทบระยะยาวและไม่อาจกู้คืนกลับ รวมตัวกันลุกขึ้นมาต่อต้าน
ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้ก่อตั้งและครูใหญ่ของโฮงเฮียนแม่น้ำของ เป็นผู้นำร่วมกับเครือข่ายหลายภาคส่วน สวนกระแสธารที่เข้ามาโดยกล่าวอ้างว่าเป็น ‘การพัฒนา’ จนทำให้ ครม. มีมติยกเลิกโครงการระเบิดแก่งหิน นับเป็นการสิ้นสุดโครงการระเบิดแก่งหินที่ต่อสู้ยืดเยื้อกันมานานตลอดระยะเวลา 20 ปี
แม้โครงการระเบิดแก่งหินจะยุติแล้ว แต่ครูตี๋ในวัย 60 ปี ยังคงไม่อาจเกษียณและยุติบทบาทตนเอง ตราบใดที่แม่น้ำของและวิถีชีวิตตลอดสายน้ำแห่งนี้ยังคงเผชิญภัยอื่นอีกมาก ตราบใดที่ลมหายใจและสายน้ำของยังไม่หยุดลง ครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของยังคงยืนหยัดทำหน้าที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แม่น้ำของของเรา ผ่านบทเรียนสายน้ำโขง
ครูตี๋รอเราอยู่บนเรือที่เทียบท่าอยู่ข้างโฮงเฮียนแม่น้ำของแล้ว เราขอชวนทุกคนลงเรือลำเดียวกันไปเรียนหลักสูตรทางไกลว่าด้วยแม่น้ำของ แม่น้ำสายสำคัญที่เป็นดั่งเส้นเลือดของเราและมนุษย์ทุกคนบนโลก
โฮงเฮียนแม่น้ำของ (สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ) เริ่มเปิดสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่าย เป็นอาคารไม้สองชั้นภายใต้ร่มเงาของต้นไม้นานาชนิดริมฝั่งแม่น้ำของ
โรงเรียนแห่งนี้มีแม่น้ำของเป็นห้องเรียน และมีเรื่องราววิถี-ชีวิต ตลอดสายน้ำเป็นครูบาอาจารย์
“กระบวนการให้ความรู้ของโฮงเฮียนแม่น้ำของคือการลงพื้นที่ เราใช้พื้นที่จริงเป็นตัวอธิบายให้คนเข้าใจถึงความสำคัญของแม่น้ำของ ผ่านกายภาพ ผ่านเรื่องเล่าตำนาน มีสามเรื่องหลักที่สำคัญมาก คือ ประวัติศาสตร์ นิเวศ และวัฒนธรรม สามสิ่งนี้ร้อยเรียงกลายเป็นแม่น้ำของ” เรือค่อยๆ แล่นไปตามแม่น้ำ พร้อมกับเสียงครูตี๋เริ่มอธิบาย
“ผู้คนริมฝั่งแม่น้ำของในอดีตชาญฉลาดมากในการสอนเรื่องแม่น้ำให้กับลูกหลาน แทบทุกจุดในแม่น้ำของล้วนมีชื่อ มีเรื่องราว และมีความหมาย เป็นเช่นนั้นเพราะการแล่นเรือในแม่น้ำของต้องใช้ประสบการณ์อย่างมาก สายตาของคนขับเรือนอกจากมองผิวน้ำ เขาจะคอยมองริมฝั่งด้วยว่าถึงไหนแล้ว จะได้รู้ว่าต้องหลบทางไหน เพราะหน้าน้ำอาจมีแก่งหินซ่อนอยู่ ทำให้เรือแตกได้ ยิ่งตำแหน่งไหนเป็นน้ำวนหรือเป็นน้ำเชี่ยว เขายิ่งต้องคอยระวัง
“คนสมัยก่อนมีวิธีการจำช่วงแม่น้ำผ่านเรื่องเล่า อย่างตรงนี้ชื่อ ช่องไซ มาจากตำนานที่ว่า คนริมแม่น้ำของตัวใหญ่เหมือนยักษ์ มีปู่ละหึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านนับถือ เป็นยักษ์ที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณริมน้ำของในอดีต ช่องไซก็คือสถานที่ที่ปู่ละหึ่งเอาไซมาดักปลาในแม่น้ำ ถัดไปอีกหน่อยบริเวณบ้านเมืองกาญจน์ ผาตรงนี้คนเชียงของเรียกว่า ผาถ่าน
“ผาถ่านมีสีค่อนข้างเข้ม ว่ากันว่าปู่ละหึ่งหาบถ่านมาแล้วคานหักจนกระบุงหล่นลงสู่แม่น้ำ อันหนึ่งหล่นลงมาเป็นผาถ่าน อีกอันหล่นอยู่บ้านวัดหลวงเป็นท่าผาถ่าน แล้วคนสมัยก่อนก็วางกฎเกณฑ์ผ่านอุบายการตั้งชื่อด้วย เช่น ผาก้นช้าง มีลักษณะเหมือนช้างกำลังเดินขึ้นฝั่ง ส่วนฝั่งตรงกันข้ามมีผาคางเสือ โบราณว่าถ้าน้ำขึ้นถึงก้นช้างและคางเสือ บ้านไหนมีลูกชายคนเดียวไม่ให้มา เพราะอันตราย ด้วยกระแสน้ำทำให้น้ำขึ้นสูงจนมองไม่เห็นแก่งหินที่อาจจมอยู่ด้านล่าง”
จบตำนานสนุก เรือของเราแล่นเทียบท่าบริเวณหาดทรายกลางแม่น้ำของ คุณครูและพรรคพวกกระโดดลงเรืออย่างกระฉับกระเฉง ก่อนจะทำหน้าที่ผูกเรือจอดอย่างชำนาญ แล้วลงเดินสำรวจหาดทรายกว้างแห่งนี้พร้อมกัน
“ในอดีต หาดทรายตรงนี้เป็นระบบนิเวศสำคัญจากสิบระบบนิเวศของแม่น้ำของ ช่วงน้ำลงจะเห็นหาดทรายโผล่ขึ้นมา นกท้องถิ่นจะมาวางไข่ บางชนิดวางไข่กลมกลืนกับหินกรวดเพื่ออำพรางศัตรู ส่วนนกอพยพใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่หากินและแหล่งอาศัย แม่น้ำของของเราค้นพบนกมากกว่าร้อยชนิด” ครูตี๋เล่าย้อนความอุดมสมบูรณ์
“เห็นต้นไม้ตรงนั้นมั้ย” เรามองตามนิ้วมือที่มีริ้วรอยบอกประสบการณ์ “นั่นต้นไคร้ ต้นไม้สำคัญของแม่น้ำของ จะเกาะตามดอน รากมันเยอะ เวลาน้ำขึ้นปลาจะเข้าไปอาศัยแล้วก็วางไข่ ใบก็เป็นอาหารปลา พอน้ำเริ่มแห้ง ต้นก็โผล่ขึ้นมากลายเป็นที่อยู่ของนก ตอนนี้มีซากต้นไคร้เยอะมาก เพราะน้ำขึ้นและลงไม่เป็นฤดูกาลจากการปล่อยและกักน้ำของเขื่อน หลายต้นก็ตาย ยังไม่มีโอกาสผลิใบเลย เช่นเดียวกับนกที่วางไข่ตรงชายหาด พอน้ำขึ้นลงผิดฤดูกาล น้ำก็ท่วมไข่จนจมน้ำตาย ระบบนิเวศของที่นี่เสียหายไปหมด” แววตาของครูใหญ่แห่งลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนไป ก่อนเอ่ยปากเสริม
“เมื่อก่อนหาดตรงนี้มีนกเป็นพันๆ ตัวเลยนะ ดูตอนนี้สิ เราแทบไม่เห็นรอยเท้าของมันด้วยซ้ำ”
เรากลับขึ้นเรือเดินทางกันต่อ ทุกคนต่างยืนขึ้นช่วยกันใช้ไม้ไผ่ดันเรือออกจากหาดทรายและแก่งหิน
“แก่งหินตรงนี้ชาวบ้านเรียก แก่งไก่ แก่งหินที่เขาจะมาระเบิด สมัยก่อนริมแม่น้ำของยังอุดมสมบูรณ์ ไก่ป่าจะใช้แก่งหินสำหรับกระโดดข้ามไปมาสองฝั่ง แต่คนจากโครงการฯ เขาว่านี่มันหินโสโครก เป็นสิ่งกีดขวาง แต่มุมมองของชาวบ้าน มันคือบ้านของปลา ถ้าพูดเชิงวิทยาศาสตร์ เกาะแก่งพวกนี้เป็นตัวทำให้เกิดออกซิเจนในน้ำและเป็นจุดกำเนิดของสาหร่ายไก มันคือฐานของห่วงโซ่อาหาร เป็นอาหารของปลา พอไม่มีไก ปลาก็หาย สัตว์อื่นก็ไม่มีแหล่งอาหาร
“ทั้งหมดเกิดจากน้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ ทั้งที่เดิมทีตรงนี้เคยเป็น ลั้ง พื้นที่รวมทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านไทย-ลาว เข้ามาหาปลาด้วยกัน บ้างก็สร้างกระท่อมเล็กๆ ริมฝั่งไว้หลบแดดตอนรอปลาติดเบ็ด ตอนนี้แทบไม่เหลือให้เห็น
“เมื่อปีที่ผ่านมาคุณอาจเห็นข่าวรายงานว่า แม่น้ำโขงน้ำใส สำหรับคนทั่วไป น้ำใสคงเป็นเรื่องดี สำหรับแม่น้ำของตรงกันข้ามเลยครับ ถ้าน้ำใสมันคือสัญญาณเตือนที่อันตรายมากๆ เป็นการบอกว่าสายน้ำแห่งนี้กำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพราะตะกอนเหล่านั้นคือปุ๋ย คือแร่ธาตุต่างๆ ในน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาล
“น้ำใสจึงไม่ใช่ข่าวดีสำหรับแม่น้ำของอย่างที่หลายคนเข้าใจ” ครูตี๋เงียบอยู่ครู่ใหญ่ สายตาเหม่อมองทอดออกไปสู่เวิ้งแม่น้ำ แววตาตรงกันข้ามกับแววตาเปล่งประกายตอนเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำของอย่างสิ้นเชิง
“ผมสงสารแม่น้ำของ…” ครูตี๋เว้นจังหวะ “ทุกคนบอกว่าแม่น้ำของคือแม่ของประเทศตัวเอง นี่คือแม่น้ำสายสำคัญของโลก ไหลตั้งแต่ที่สูงจากทิเบตลงมา ผ่านหลากหลายประเทศที่เรียกขานชื่อแม่น้ำแห่งนี้แตกต่างกัน ทุกคนอาศัยประโยชน์จากแม่น้ำแห่งนี้ แต่ไม่มีประเทศไหนที่จะรักแม่และดูแลแม่ มีแต่จะทำลายแม่ตัวเองทั้งนั้น
“นี่คือความโชคร้ายของแม่น้ำสายนี้”
เรือแล่นกลับมาเทียบท่าตรงโฮงเฮียนแม่น้ำของ เราพูดคุยกันต่อภายในศาลาที่มีแผนที่แม่น้ำของแขวนอยู่